ตลาดเกษตร

ชื่อกระทู้: ข่าวสินค้าเกษตรช่วงไตรมาส 4 สศก. แจง ยาง-สับปะรด พร้อมออกตลาด [สั่งพิมพ์]

โดย: admin    เวลา: 2014-9-9 16:19
ชื่อกระทู้: ข่าวสินค้าเกษตรช่วงไตรมาส 4 สศก. แจง ยาง-สับปะรด พร้อมออกตลาด
เกาะติดสินค้าเกษตรช่วงไตรมาส 4 สศก. แจง ยาง-สับปะรด พร้อมออกตลาด


สศก. ระบุ ยางพารา และ สับปะรด เตรียมให้ผลผลิตพร้อมออกตลาดมากช่วงไตรมาส 4 เผย การส่งออกยางพาราครึ่งปีหลัง 57 จะเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก ส่วนมูลค่าคาดว่าจะลดลง ตามราคาตลาดโลก ด้านสับปะรด การส่งออกจะมีแนวโน้มใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่ราคาที่เกษตรกรขายได้จะสูงขึ้น
นายอนันต์  ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยถึงสถานการณ์การสินค้าเกษตร ของ ยางพารา และสับปะรด ซึ่งจะมีผลผลิตออกมากในช่วงไตรมาส 4 (ต.ค.-ธ.ค.57) ซึ่งพบว่า
ยางพารา การผลิต ปี 2557 (คาดการณ์ ณ ก.ย. 57) มีผลผลิต 4.58 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 4.38 ล้านตัน ของปี 2556 ร้อยละ 4.64 เนื่องจากเนื้อที่กรีดยางส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง ประกอบกับมีเนื้อที่เปิดกรีดหน้ายางใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ  ซึ่งในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2557 คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาด 1.44 ล้านตันหรือร้อยละ 31.51 ของผลผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้น จาก 1.38 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ร้อยละ 1.28  เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลที่ยางพาราให้ผลผลิตมาก
ด้านราคา พบว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2557ราคาที่เกษตรกรขายได้ ราคา เอฟโอบี และราคาตลาดล่วงหน้าจะลดลง เนื่องจากมีผลผลิตทั้งของไทยและของประเทศผู้ผลิตยางพาราอื่นๆ ออกสู่ตลาดมาก ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน สถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในภาวะผันผวน ส่งผลให้ราคาโน้มลดลง ส่วนการใช้ภายในประเทศ ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2557คาดว่าจะ เพิ่มขึ้นจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐในการส่งเสริมให้มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า
ด้านการส่งออก ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 (ม.ค. – ก.ค.) ไทยส่งออกยางพาราไปโลกปริมาณ 2.115 ล้านตัน มูลค่า 149,319.80 ล้านบาท ปริมาณเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นเนื้อที่กรีด ในขณะที่มูลค่าลดลง จากราคายางพาราในตลาดปรับตัวลดลงตามทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าทั้ง TOCOM  และ SICOM  รวมทั้งราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวน ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2557  คาดว่าปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก ส่วนมูลค่าคาดว่าจะลดลง ตามราคาตลาดโลก
สับปะรด ปี 2557 คาดว่ามีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 0.512 ล้านไร่ ผลผลิต 1.94 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 3,795  กิโลกรัม ซึ่งเนื้อที่เก็บเกี่ยวลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.96 เนื่องจากเนื้อที่ปลูกสับปะรดแซมในสวนยางพาราลดลง เพราะต้นยางพารามีอายุมากกว่า 3 ปีแล้ว ไม่สามารถปลูกสับปะรดได้ ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น มันสำปะหลัง สำหรับผลผลิตต่อไร่ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.19 เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ทำให้ผลสับปะรด ไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้ผลผลิตลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 6.06  ซึ่งในไตรมาสที่ 4 คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาด 0.54 ล้านตัน หรือร้อยละ 27.60 ของผลผลิตทั้งหมด ซึ่งผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2557 ประมาณ 0.37 ล้านตัน หรือ  ร้อยละ 18.85 ของผลผลิตทั้งหมด
ด้านราคาที่เกษตรกรขายได้ สับปะรดโรงงาน ปี 2557 (เดือน ม.ค. – ส.ค.57) กิโลกรัมละ 6.78 บาท เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 4.11 บาท ในช่วงเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 64.96 โดยเดือนกันยายน 2557 (สัปดาห์ที่ 1) กิโลกรัมละ 6.41 บาท เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 4.97 บาท ในช่วงเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 28.97  ส่วนสับปะรดบริโภคสด ปี 2557 (เดือน ม.ค. – ส.ค.57) กิโลกรัมละ 8.12 บาท เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 6.99 บาท ในช่วงเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 16.17 โดยราคาเดือนกันยายน 2557 (สัปดาห์ที่ 1) กิโลกรัมละ 10.02 บาท เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 7.34 บาท ในช่วงเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 36.51
ราคาส่งออก  สับปะรดกระป๋อง ปี 2557 (เดือน ม.ค. – ก.ค.57) กิโลกรัมละ 29.83 บาท เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 26.47 บาท ในช่วงเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 12.69  ส่วนน้ำสับปะรด ปี 2557 (เดือน ม.ค. – ก.ค.57) กิโลกรัมละ 38.86 บาท เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 31.07 บาท ในช่วงเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 25.07  ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 4 คาดว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์สับปะรดจะมีแนวโน้มใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ในขณะที่ราคาที่เกษตรกรขายได้คาดว่าจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา

ที่มาโดย : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร oae.go.th
http://www.oae.go.th/ewt_news.php?nid=18183&filename=index






ยินดีต้อนรับสู่ ตลาดเกษตร (http://www.farmthailand.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.1