ตลาดเกษตร

ชื่อกระทู้: วิธีการทำน้ำปุ๋ยหมักจากหอยเชอรี่ และ การทำหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ ต่างๆ [สั่งพิมพ์]

โดย: admin    เวลา: 2014-8-11 09:47
ชื่อกระทู้: วิธีการทำน้ำปุ๋ยหมักจากหอยเชอรี่ และ การทำหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ ต่างๆ
น้ำปุ๋ยหมักจากหอยเชอรี่ ชื่อนี้คงมีใครหลายคนเคยได้ยิน และคิดว่าทำกันอย่างไร
งั้นวันนี้เราจะพามาดูส่วนผสมที่ต้องใช้ และวิธีทำต่างๆกันเลยครับ



วิธีการทำน้ำปุ๋ยหมัก จากหอยเชอรี่
วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้
1. เนื้อหอยเชอรี่ หรือหอยเชอรี่พร้อมเปลือก
2. ไข่หอยเชอรี่
3. พืชสดอ่อน / แก่
4. น้ำตาลโมลาส (กากน้ำตาล)
5. ถังหมักที่มีฝาปิด
6. หัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ
7. แกลลอน / ถังบรรจุผลิตผลปุ๋ยน้ำหมักจากหอยเชอรี่
8. กรวยกรองปุ๋ยน้ำหมัก

วิธีการทำหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ
1. เก็บหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติจากเปลือกสับปะรด จากแปลงปลูกสับปะรดในระยะการเจริญเติบโตที่พร้อมจะเก็บบริโภค ซึ่งแปลงปลูกสับปะรดไม่มีการใช้สารเคมีกำจัดโรคพืชมาก่อนไม่น้อยกว่า 3 เดือน ซึ่งจะมีเชื้อจุลินทรีย์อยู่ตามธรรมชาติ
2. เฉือนหรือปลอกเปลือกสับปะรดให้ติดตาจากผลสับปะรดสุกจำนวน 3 ส่วน สับหรือบดให้ละเอียดแล้วนำมาผสมกับน้ำตาลโมลาส (กากน้ำตาล) 1 ส่วน แล้วนำทั้ง 2ส่วนมาผสมกัน คลุกเคล้าให้เข้ากัน พร้อมทั้งใส่น้ำมะพร้าวผสมด้วย จำนวน 1 ส่วน เมื่อผสมกันแล้วใส่ถังปิดฝาด้วยผ้าขาวบาง ทิ้งไว้ 7 – 10 วัน ถ้ามีกลิ่นเหม็นให้เติมน้ำตาลโมลาส(กากน้ำตาล) ลงไปคนให้เข้ากันจนกลิ่นหายไป
3. หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่หมักได้ที่ สามารถเก็บในภาชนะที่ปิดฝาสนิท ในสภาพอุณหภูมิห้องได้นานเป็นปี

วิธีการทำปุ๋ยน้ำจากหอยเชอรี่

วิธีที่ 1 หมักหอยเชอรี่ทั้งตัว
1. หอยเชอรี่ทั้งตัวมาทุบหรือบดให้ละเอียดพร้อมเปลือก 3 ส่วน
2. น้ำตาลโมลาส (กากน้ำตาล) 3 ส่วน
3. น้ำหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ 1 ส่วน
นำทั้ง 3 อย่างมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำไปบรรจุในถังหมักปิดฝาทิ้งไว้และคนให้เข้ากัน ถ้ามีการแบ่งชั้น ถ้ามีกลิ่นเหม็นให้เติมกากน้ำตาลลงไปคนให้เข้ากัน จนหายกลิ่นเหม็น แล้วหมักต่อไปจนกว่าจะไม่เกิดก๊าซให้เป็นบนผิวหน้าของปุ๋ยน้ำหมักหอยเชอรี่ แต่จะเห็นความระยิบระยับอยู่ที่ผิวหน้าน้ำหมักดังกล่าว บางครั้งอาจจะพบว่ามีตัวหนอนลอยผิวหน้าหรือบริเวณข้างถัง ควรรอให้ตัวหนอนใหญ่เต็มที่และตายไป ก็ถือว่าการหมักหอยเชอรี่สิ้นขบวนการ กลายเป็นปุ๋ยน้ำหมักหอยเชอรี่ สามารถนำไปใช้ได้หรือนำไปพัฒนาผสมกับปุ๋ยน้ำอื่นๆ ใช้ประโยชน์ต่อไป

วิธีที่ 2 หมักไข่หอยเชอรี่
1. นำกลุ่มไข่หอยเชอรี่มาทุบหรือบดให้ละเอียด 3 ส่วน
2. น้ำตาลโมลาส (กากน้ำตาล) 3 ส่วน
3. หัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ 1 ส่วน
คลุกเคล้าให้เข้ากันและนำไปหมักตามวิธีที่ 1

วิธีที่ 3 หมักไข่หอยเชอรี่และพืช
1. นำกลุ่มไข่หอยเชอรี่บดให้ละเอียดผสมกับพืชอ่อนๆ หั่น 3 ส่วน
2. น้ำตาลโมลาส (กากน้ำตาล) 3 ส่วน
3. หัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ 1 ส่วน
แล้วนำไปหมักตามขบวนการที่ 1

วิธีที่ 4 หมักเนื้อหอยเชอรี่ต้มสุก
1. นำเนื้อหอยเชอรี่ที่ต้มสุกใส่เกลือแกงพอเหมาะบดละเอียด 3 ส่วน
2. น้ำตาลโมลาส (กากน้ำตาล) 3 ส่วน
3. หัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ 1 ส่วน
หมักตามขบวนการที่ 1

วิธีที่ 5 หมักเนื้อหอยเชอรี่และพืชสด
1. นำเนื้อหอยเชอรี่ต้มสุกบดให้ละเอียด + พืชสดสับ 3 ส่วน
2. น้ำตาลโมลาส (กากน้ำตาล) 3 ส่วน
3. หัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ 1 ส่วน
หมักเช่นเดียวกับวิธีการที่ 1

วิธีที่ 6 หมักเนื้อหอยเชอรี่ ไข่หอยเชอรี่ และพืชสด
1. ตัวหอยเชอรี่หรือเปลือก ไข่ และพืชสด 3 หรือ 6 ส่วน
2. น้ำตาลโมลาส (กากน้ำตาล) 3 หรือ 6 ส่วน
3. หัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ 5 หรือ 3 ส่วน
หมักเช่นเดียวกับวิธีการที่1
อัตราการใช้ปุ๋ยน้ำหมักจากหอยเชอรี่ / ไข่ / พืช
1. พืชที่มีอายุน้อย หรือระยะการเจริญเติบโตแรกๆ ใช้ 20 ซ๊ซี / น้ำ 20 ลิตร สามารถใช้ได้ 7 – 10 วัน ขึ้นอยู่กับชนิด อายุ ช่วงการเจริญเติบโตของแต่ละพืช
หมายเหตุ ถ้าต้องการน้ำมากให้ใส่น้ำมะพร้าวอ่อนหรือแก่ให้มากหรือท่วมปุ๋ยหมัก

** การทำน้ำหมักชีวภาพไม่ว่าจากหอยเชอรี่หรือวัสดุอื่น เป็นการย่อยสลายในกระบวนการแบบไม่ใช้ออกซิเจน
ที่จุลินทรีย์จะปล่อยกลิ่นเหม็นจากแก๊สไข่เน่าหรือไฮโดรเจนซัลไฟด์ออกมาตามธรรมชาติ
แถมด้วยแก๊สมีเทนที่ถ้ามีขนาดถังใหญ่ ๆ ก็สามารถนำไปใช้หุงต้มได้

ข้อมูลที่มาโดย: สำรวล ดอกไม้หอม การใช้ประโยชน์จากปุ๋ยน้ำหมักหอยเชอรี่ กองป้องกันและกำจัดศัตรูพืช กรมส่งเสริมการเกษตร





ยินดีต้อนรับสู่ ตลาดเกษตร (http://www.farmthailand.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.1